รีวิว สถานปฏิบัติธรรมโพธิปักขิยธรรมสถาน จาก บล๊อกเรื่องหนึมๆ

 

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วิปัสสนา 4 วันได้อะไร

 
เมื่อปีที่แล้วตอนที่แม่กำลังรักษาตัว หนึมใช้เวลาแทบจะตลอดเวลายกเว้นตอนไปทำงานอยู่กับแม่ หลังเลิกงานก็กลับไปนอนโรงพยาบาล เสาร์อาทิตย์ไม่อยากไปไหนนอกจากอยู่กับแม่

ตอนนั้นหนึมคิดว่าเมื่อแม่หายดีแล้ว และการไปหาหมอเพื่อตรวจติดตามชัดเจนเรื่องความถี่ต่างๆแล้ว หนึมจะไปปฏิบัติธรรมให้แม่ ไม่ได้เป็นการบนบานอะไรเพราะหนึมไม่ชอบบน แต่อยากสร้างกุศลให้แม่ รีบจองแต่ต้นปีโดยเลือกไปหลังวันเกิดแม่ โดยชวนจิตและตูนไปเป็นเพื่อน พวงพัชรทราบข่าวทีหลังก็จองตาม และลงเอยเป็นคนเดียวที่ได้ไปกับหนึมเมื่อกำหนดการเดินทางมาถึงเมื่อพฤหัสที่ 23 กค 2552 ที่ผ่านมา
โพธิปักขิยธรรมสถาน นี้พวงพัชรเป็นคนแนะนำให้หนึมรู้จัก อยู่ที่จังหวัดสระบุรี ขับไปง่ายๆสบายๆไม่นานจากกรุงเทพ อยู่ลึกจากถนนใหญ่มากและรายล้อมด้วยภูเขา ทางไปเป็นถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ต้องตั้งใจใช้สติขับดีๆ และเมื่อหนึมเข้าไปดูใน web ของโพธิปักฯพบว่าสัญลักษณ์ของมูลนิธิวิปัสนามิตรภาพผู้ก่อตั้งและดูแลสถานที่แห่งนี้เป็นรูปบัว 4 เหล่า เข้าทางกันตั้งแต่เรื่องบัวเพราะหนึมชอบปลูกบัว
 
คืนก่อนเดินทางหนึมเพิ่งได้รับหนังสือที่สั่งไว้ทางไปรษณีย์ เป็นเรื่องบัวของ ดร เสริมลาภ เจ้าของปางอุบลที่หนึมไปรับความรู้และพันธ์บัวมานั่นเอง หนึมยังไม่ทันมีเวลาเอิบอิ่มกับความรู้และภาพสวยๆของหนังสือเล่มหนาทั้ง 2 เล่มก็ต้องไปปฏิบัติธรรมเสียแล้ว

เมื่อไปถึงแล้ว ตลอด 4 วันนั้นหนึมลืมเรื่องหนังสือไปเลย ได้อยู่กับปัจจุบันจริงๆ ในบรรยากาศสบายเนื้อสบายตัวและสบายใจ
 

 

ที่นี่มีพระวิปัสนาจารย์คือพระมหาเหล็ก จนทสีโล และผู้ช่วยวิปัสนาจารย์คือ พระมหาบุญทัน รตนปัญโญ และในรุ่นที่หนึมไปนี้มีพระอาจารย์พัฒนพงศ์มาช่วยอีกรูป ทั้ง 3 รูปมีเมตตามาก ให้เวลาและใส่ใจในผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง พระมหาเหล็กท่านเน้นให้พวกเราปฏิบัติ ไม่เน้นพิธีการ คือให้จับแก่น ฝึกให้เป็น มุ่งสู่การพ้นทุกข์เป็นหลัก ด้วยภาษาง่ายๆ ชาวบ้านเข้าใจ มีศัพท์ธรรมบ้างที่จำเป็น และตรงประเด็น

พระมหาบุญทันนั้นเป็นลูกศิษย์พระมหาเหล็กและอายุยังไม่มาก แต่ลองฟังท่านแล้วจะรู้ว่าท่านพูดจากการปฏิบัติจริง และเทศน์อย่างอารมณ์ดี ช่วยผ่อนคลายขณะที่ผู้ปฏิบัติเกร็งๆเซ็งๆได้มาก

พระอาจารย์พัฒนพงศ์เป็นลูกศิษย์พระมหาเหล็กเช่นกันแต่อายุมากหน่อย ท่านเมตตาเล่าเรื่องของตนเองเป็นแบบอย่างให้พวกเราฟังบ่อยๆ ถึงความผิดพลาด ความหลงต่างๆ กว่าจะมาถูกทางของท่าน เป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติได้ดี

ส่วนสถานที่ก็สบายเหมือนอยู่โรงแรม พักเดี่ยวบ้าง คู่บ้าง 3 – 4 คนต่อห้องพัก 1 หลังบ้าง ถ้าคนมามากและจองช้าก็ถึงจะได้นอนห้องรวม แต่ทุกห้องมีห้องน้ำในตัว มีเตียง 1 เตียงต่อห้องที่เหลือมีเสื่อหมอน ผ้าปู ผ้าห่ม ให้ยืม พัดลม 2 ตัว ขาดก็แต่แอร์และเครื่องทำน้ำร้อน

อาหารการกินก็ไม่แพ้โรงแรม ทั้งที่เป็นเงินของผู้บริจาคล้วนๆที่นี่มีอาหารการกินดีมาก เยอะไปหมด ทานอาหาร 2 มื้อในถาดหลุม เดินตักเอาเอง มีให้เลือกมากจนผู้ปฏิบัติบางคนลืมบทถวายข้าวพระพุทธที่สวดก่อนทานข้าว ท่อนที่ว่า “เราจะรับประทานอาหารนี้เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมความดี มิใช่เพื่อกิเลส” เพราะเห็นตักเอาๆหลายรอบ กว่าจะตักก็พิจารณาอาหารมาก แต่พิจารณาว่าตักชิ้นไหนดี กี่ชิ้นดี ไม่ได้พิจารณาว่าเป็นสิ่งที่เข้าไปไม่กี่ชั่วโมงก็ออกมาแล้ว

การปฏิบัติหนนี้หนึมได้พบแนวทางที่เหมาะกับตัวเองอย่างมาก เป็นแนวทางที่อาศัยการกำหนดบัญญัติอาการของจิตและของกาย การกำหนดนี้กำหนดตามอาการจริงเท่านั้น ไม่กำหนดล่วงหน้า หรือกำหนดเพื่อหน่วงนำ เช่น ลุกจากที่นั่งก็กำหนดลุกหนอ ถ้าสังเกตุจิตใจเราได้ไวจะเห็นอีกว่าก่อนลุกเราต้องมีความอยากลุก ก็ต้องกำหนดว่าอยากลุกหนอ เห็นจิ้งจกที่ประตูกระโดดตอนเปิดบานประตู กำหนดว่าตกใจเพราะตกใจจนหัวใจเต้นตุ๊บๆ ถ้าจิตเราไวจะสังเกตุได้ทันว่าก่อนจะตกใจเราต้องมองเห็นจิ้งจกก่อน ก็ต้องกำหนดว่าเห็นหนอ แต่ถ้ากำหนดไม่ทันก็ไม่ทัน ไม่ต้องไปกำหนดย้อนหลัง กำหนดนี้เพื่อให้เรารู้ปัจจุบันเท่านั้น 2 ตัวอย่างนี้อ่านแล้วลองไปสังเหตุตัวเองดู บางทีจะเห็นว่าเราสังเกตุไม่ทันต้นจิต คือกว่าจะสังเกตุได้จิตไปไหนๆแล้ว จิตสั่งกายให้ลุกไปแล้ว จิตกระเพื่อมจนตกใจไปแล้ว ถูกโลภะ โทสะ โมหะกินไปแล้วถึงจะสังเหตุ ถึงจะกำหนดทัน เห็นไหมว่าจิตเราไวแค่ไหน

อีกตัวอย่าง ได้ยินคนดุบ่นต่อว่า กำหนดทันว่ายินหนอไหม หรือนู่น ใจไปแล้วว่า “มาบ่นว่าอะไรอีกนะ น่ารำคาญ ตัวเองดีเก่งซะเต็มประดาละมาบ่นมาว่าเรา ฯลฯ” ทั้งๆที่ถ้าเราแค่ฟังแล้วสามารถกำหนด ยินหนอ ถัดมาก็คิดหนอ อารมณ์จะไม่มาก่อกวน แล้วจะคิดเป็นเหตุเป็นผลได้สบายๆ ไร้ซึ่งการปรุงแต่ง กิเลศไม่ได้เอาไปกิน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างจะดี

ทำไมต้องกำหนด ลูกศิษย์หลวงพ่อปราโมทย์อย่างพวงพัชรและหนึมถาม พระมหาบุญทันตอบตอนเมตตาเรียกหนึมไปพบเพื่อแก้ไขสภาวะบางอย่างตั้งแต่วันแรก และพระมหาเหล็กก็ได้อธิบายส่วนนี้ไว้ว่า จิตเราไวมาก เราจะพลั้งเผลอบ่อยครั้งมาก ถ้าจิตไม่เข้มแข็งการไม่กำหนดอาจทำให้เราหลุดได้ คือเผลอไม่ตามดูตามรู้ หรือรู้ไม่ทัน และไม่รู้ตัวด้วยว่ารู้ไม่ทัน หลวงพ่อปราโมทย์ท่านฝึกสมถะมานานมากกว่าจะเป็นวิปัสสนา ฐานจิตท่านแข็ง หนึมเองยังอ่อนอยู่ การกำหนดบัญญัติจึงช่วยให้เราเห็นตัวเองได้ง่าย ว่ามีสติไหม ทันมากน้อยแค่ไหน กำหนดในใจ ไม่ต้องกำหนดอะไรยาวๆ อันไหนกำหนดไม่ทันแต่รู้ก็ให้กำหนดว่ารู้หนอ แต่กำหนดทุกเม็ด คิดหนอ พุดหนอ เห็นหนอ อยากหนอ ไม่อยากหนอ ทุกเม็ดจริงๆ ท่านให้กำหนดก่อน เมื่อชำนาญตัวกำหนดจะหายไป เมื่อนั้นเราจะแทบไม่รู้ตัวว่ามีสติที่เฉียบคมเสียแล้วและทิ้งการกำหนดไปอัตโนมัติ จะตามดูตามรู้ได้ว่องไวอย่างที่พระอาจารย์ประโมทย์สอนนั่นเอง

หลักสูตรนี้มีวิทยากรที่เป็นฆราวาส 2 ท่านคือป้าหนูและคุณทศพร ป้าหนูดูดุแต่ใส่ใจเป็นห่วงเป็นใยมาก ดูแลหนึมอย่างพอดีๆตั้งแต่ทราบว่าวันแรกหนึมไม่ค่อยสบาย คุณทศพรช่วยสอนท่าเดิน และช่วยอธิบายศัพท์ธรรม ทั้งคู่น่ารักมาก มาทั้งที่ไม่มีอะไรตอบแทน และเสียสละเวลามาช่วยพระมหาเหล็กอย่างแท้จริงปีละหลายๆวัน เราช่างโชคดีเหลือเกิน ที่โลกนี้ยังมีผู้สละเวลา พลัง ความรู้ ช่วยเราโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทนใดๆเลย

คุณทศพรชี้แจงว่าท่าเดินจงกรมที่ต้องบังคับจังหวะ แม้จะไม่ช้ามากเหมือนสายคุณแม่สิริ แต่ก็ช้ากว่าเดินปกติเล็กน้อย ทั้งนี้เป็นพื้นฐานให้ทุกคนก่อน ให้รู้จักจังหวะว่าเดินแบบไหนถึงเรียกว่ารู้ปัจจุบัน ก้าวแบบไหนเรียกรู้ปัจจุบัน ไม่ใช่ขาก้าวไปแล้วจนจะก้าวอีกข้างยังเพิ่ง “รู้” ก้าวแรก จึงให้กำหนดและออกเสียงประกอบการเดินก่อนทุกคน ไม่ว่าจะมาจากสำนักไหนและฝึกมากี่ครั้งก็ตาม การฝึกจังหวะและท่าเดินจงกรม จึงมีเพื่อฝึกให้เรารู้จักปัจจุบันขณะของตนเองให้แม่นในทุกๆเรื่อง ไม่อยู่กับอดีตหรืออนาคต

คุณทศพรและป้าหนู ดูจนมั่นใจว่าทุกคน เกือบ 40 คนของรุ่นเรา รู้ปัจจุบันได้จริง แล้วจึงปล่อยให้ปฏิบัติเอง หมายถึงว่าถึงเวลาที่กำหนด ก็แยกย้ายกันไปเดิน ไปนั่ง จนครบเวลา เดินเร็วเดินช้าให้ดูตัวเอง ถ้านั่งแล้วซึม ง่วงมาก ฟุ้งคิดมากไปเรื่อย ให้เดินให้นานขึ้น ถ้าเดินช้าแล้วซึม ง่วง ฟุ้ง ให้เดินเร็วขึ้น ประคำบริกรรมให้ทันต่อท่าทางเอาเอง จะขวาย่างหนอเร็วๆ หรือ ขวาย่างหนอช้าๆ แล้วแต่เราเห็นเหมาะกับตัวเองในแต่ละครั้งที่ปฏิบัติ แต่ต้องนั่งสมาธิและเดินจงกรม ประกอบกับกำหนดอิริยาบทย่อยเช่นหยิบร่ม เห็นอาหาร ตักเข้าปาก ปวดท้องห้องน้ำ ถ่ายสบายท้องฯลฯ นั่งสมาธิเพิ่มสมาธิ เดินจงกรมเพิ่มสติ ยิ่งกำหนดอิริยาบทย่อยมากๆยิ่งดี สติจะไว บางทีดึกดื่นนอนเหมือนไม่ได้นอน พลิกตัวก็รู้ กรนก็รู้ ลืมตาตื่นก็รู้ แต่ไม่อ่อนเพลีย

การเดินจงกรมช่วงต่อมามีการเพิ่มว่า ระหว่างเดินจงกรมเรามักจะฟุ้ง เผลอคิด ให้กำหนดว่าคิดหนอแล้วหยุดเดิน กำหนดคิดหนอแล้วอย่าเดินจนกว่าจะหยุดคิด หยุดคิดเมื่อไหร่ ค่อยกลับมาเดิน กลับมารู้การเดินต่อ ทำอย่างนี้แล้วสนุกดี เพราะคนช่างคิดอย่างหนึมหยุดเดินแทบทุก 2 ก้าว ต้องอย่างนี้ถึงจะเห็นตัวเองว่าเราคิดอะไรมากมายเหลือเกิน เช่น ก้าวเท้าออกไปเห็นมด กำหนดเห็นหนอไม่ทัน แต่ไปสงสัยว่ามดเดินไปไหนกันเป็นสายนะ นี่คิดแล้ว สงสัยแล้ว กำหนดทันไหม แล้วหยุดคิดไหม เพราะคิดทำไม จำเป็นต้องคิดไหม รู้ตัวหรือเปล่าว่าคิดอะไรไม่เป็นเรื่องอีกแล้ว กว่าจะสังเกตุตัวเองได้ทันว่าไปเผลอคิดขณะที่ใจยังกำหนดขวาย่างหนอก็ตั้งนาน อย่างนี้เรียกไม่เป็นปัจจุบัน เรียกว่าไม่มีสติ

ผู้ปฏิบัติที่นี่มีกำหนดส่งอารมณ์ทีละคนกับพระอาจารย์ทุกวัน คนละ 10 นาที ฉะนั้นมั่วนิ่มไม่ปฏิบัติไม่ได้ และแอบบอกนิดนึงว่าอย่าส่งอารมณ์มั่วๆ วิปัสนาจารย์ที่นี่มีอะไรที่เราคาดไม่ถึง เอาเป็นว่ามีคำถามที่หนึมสงสัยในใจอยู่หลายคำถาม ยังไม่ทันได้ถามใคร แล้วพระมหาเหล็กท่านก็เทศน์ฯบรรยายตอนค่ำตรงข้อสงสัยของหนึมอยู่หลายเรื่อง เป็นเรื่องธรรมปฏิบัติไม่ใช่คำถามประเภททำบุญหรือผีสางอะไร จะว่าเป็นความบังเอิญหรือ ก็บังเอิญเสียหลายหัวข้อทีเดียว

ที่นี่มีเณร 4 รูป เป็นเณรวัยกำลัยรุ่น 3 รูป และ เณรน้อย 1 รูปอายุไม่น่าจะเกิน 11 ปี ท่านตื่นแต่เช้าทำวัดพร้อมเราตอนตี 4 ครึ่ง สลึมสลือแต่ทำหน้าที่ไม่บกพร่องสักวัน ออกไปบิณฑบาตรกับพระทุกรูป เห็นแล้วน่าเลื่อมใสมากๆ ขณะที่คุณยายตวงซึ่งเป็นวิทยากรรุ่นที่พวงพัชรเคยไปก็อายุ 70 กว่าปี ยังปฏิบัติเข้มแข็งว่องไวดูแลผู้ปฏิบัติเป็นสิบๆชีวิตได้สบาย ผู้ปฏิบัติอายุมากเดิน 3 ขา(อีกขาคือไม้เท้า) ยังมาฝึกได้ก้าวหน้าดี หากตั้งใจแล้วอะไรๆก็ไม่เป็นอุปสรรค์ อย่างที่พระมหาเหล็กท่านว่า อย่ารอให้เรื่อรั่วแล้วค่อยคิดจะพาย คือแก่ เจ็บ หรือทุกข์กินเราเข้าไปหนักๆแล้วค่อยสนใจปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ มันจะไม่ทันเอา

สิ้นสุด 4 วัน หนึมมีกำลังใจจะปฏิบัติต่อ เหมือนที่พระมหาธณเทพแห่งวัดอรุณฯ ที่มารับบาตรแถวบ้าน และรู้จักแม่อย่างดีเคยบอกหนึมว่า เจอของดีแล้วอย่างทิ้ง แม่เตือนหนึมบ่อยๆตอนเห็นหนึมเริ่มห่างหายจากจิตใจแห่งธรรม คนใกล้ตัวหนึมเอื้อต่อความก้าวหน้าแท้ๆ เหลือแต่ตัวหนึมเองว่าจะรอให้เรือรั่วไหม

ขากลับหนึมได้โอกาสเสียสละบ้าง เสียสละความเป็นส่วนตัวที่หนึมหวงแหนมาก รับผู้ปฏิบัติหญิง 2 ท่านขึ้นรถมากรุงเทพฯด้วยกัน ทั้ง 2 ท่านนี้ไม่รู้จักกันมาก่อน มีเชื้อสายจีนเหมือนกัน หนึมไม่ได้พูดคุยด้วยเลยตั้งแต่เริ่มปฏิบัติจนจบการปฏิบัติ 4 วัน (ที่นี่ห้ามพุดคุย แต่ก็มีเล็กน้อยบ้างไม่ว่ากัน) ท่านนึงคงอายุมากกว่าหนึมพอสมควร หนึมสังเกตุว่าท่านพูดคุยกับใครต่อใครง่าย ตอนจะขึ้นรถท่านก็มีของมามาก เรียกว่าต้องวางบนตักทีเดียว หนึมแอบกังวลในการเดินทางขากลับ แต่แล้วการปรุงแต่งนั้นก็เข้ารกเข้าพงคนละทิศละทางกับความเป็นจริง ทั้ง 2 ท่านเป็นเหมือนนางฟ้ามาร่วมเดินทางไปกับหนึมและพวงพัชร ตลอดทางทั้ง 2 สลับกันเล่าประสบการณ์ปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์ดีๆหลายรูป และให้กำลังใจเราทั้งสองรวมไปถึงคุณแม่ของหนึมด้วยในการปฏิบัติ ท่านที่เด็กกว่าหน่อยเล่าประสบการณ์ไปอินเดียถึง 3 ครั้ง และพุกามและปะกันที่พม่า ดินแดนแห่งเจดีย์ จนท้ายสุดหนึมและพวงพัชรต่างโดนกิเลสกิน อยากไปหนอกันทั้งคู่ ส่งทั้ง 2 ท่านลงที่หมายด้วยความสุขใจ ว่าเราช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้เจอคนเหล่านี้

ก่อนกลับ พระมหาบุญทันฝากข้อคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงฝ่าฟันความยากลำบากนานับประการ เป็นเวลาอยู่หลายปี เคยกินมูลแพะ และเมื่อขับถ่ายออกมาก็กินมูลของตนเอง และเคยอดอาหารจนร่างกายผ่ายผอม เพื่อหาหนทางพ้นทุกข์ ในเมื่อท่านได้ค้นพบและเมตตาสั่งสอนให้ผู้คนพ้นทุกข์และบรรเทาทุกข์ตลอด 2 พันกว่าปีมานี้ ด้วยคำสอนของพระองค์ ใส่พานมาให้เราขนาดนี้แล้ว เรายังจะไม่น้อมรับมาปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนได้อย่างไร ใครมีเหตุผลอย่างไรไม่รู้ แต่หนึมจองกลับไปปฏิบัติอีกครั้งปลายปีนี้แล้ว และจะพยายามฝึกทุกวันทุกเวลาที่นึกได้ ใครไม่สะดวกไปปฏิบัติ อ่านเรื่องนี้แล้วได้อะไร ลองเอาไปใช้ละกัน เริ่มพายกันซะ ก่อนเรือจะรั่วนะคะ

 

 

ขอบคุณข้อมูลรีวิว จาก บล๊อกเรื่องหนึ่มๆ http://kxdiary.blogspot.com/

Free Joomla! template by L.THEME